วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

เครือข่ายอินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต และเอกซ์ทราเน็ต

ต้นกำเนิดของอินเตอร์เน็ต
- จุดกำเนิดของอินเตอร์เน็ตเริ่มในทศวรรษที่ 1960 ในสมัยนั้นมีการใช้คอมพิวเตอร์เมนเฟรม (mainframe) อย่างแพร่หลาย ส่วนคอมพิวเตอร์แบบพีซียังไม่มี ความคิดที่พยายามทำให้คอมพิวเตอร์เมนเฟรมทั้งหลายสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ ทั้งระยะใกล้และระยะไกลนั้นเป็นเรื่องใหม่ในยุคนั้น และเนื่องจากยุคนั้นเป็นยุคของสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตด้วย ทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐจึงเห็นว่าการติดต่อสื่อสารกันได้ระหว่างคอมพิวเตอร์ถือได้ว่ามีประโยชน์ด้านทหาร
- เพื่อให้ความคิดนี้เป็นจริง ดังนั้นในปี ค.ศ 1968 หน่วยงานที่ชื่ออาร์พา (Advance Research Project Agency , ARPA ) ของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา (U.S Department of Defense, DOD) จึงมีโครงการที่จะทำการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในสถานที่ต่าง ๆเข้าด้วยกันเพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ในช่วงแรกทำการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์จากสี่สถานที่ด้วยกันคือ
  • สถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (SRI International)
  • มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ลอสแองเจลิส (University of California, Los Angeles(UCLA))
  • มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ซานตาบาร์บารา(University of California, Santa Barbara(UCSB))
  • มหาวิทยาลัยยูทาห์ (University of Utah)
คอมพิวเตอร์จากสถานที่ทั้งสี่เริ่มสามารถ ติดต่อสื่อสารกันได้ในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1969

การเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์จากสี่สถานที่เป็นการเชื่อมต่อในลักษณะเป็นเน็ตเวิร์ก เนื่องจากเป็นการเชื่อมต่อในระยะไกล จึงเป็น WAN (Wide area network) เน็ตเวิร์กที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้มีชื่อว่า อาร์พาเน็ต (ARPANET) และอาร์พาเน็ตเป็นจุดเริ่มต้นของอินเตอร์เน็ตในเวลาต่อมา การติดต่อสื่อสารที่นิยมใช้กันในช่วงนั้นของอาร์พาเน็ตคือ จดหมายอิเล็กทรอนิกหรืออีเมล์ การสนทนาแบบออนไลน์ และ การถ่ายโอนข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์ จุดเด่นประการหนึ่งของอาร์พาเน็ตคือ เป็นเน็ตเวิร์กแบบไม่มีศูนย์กลาง หรือเป็นเน็ตเวิร์กแบบกระจาย เน็ตเวิร์กแบบมีศูนย์กลางนั้นเมื่อไรก็ตามที่ศูนย์กลางเกิดเสียหรือถูกทำลายจะทำให้ทั้งเน็ตเวิร์กทำงานไม่ได้ ส่วนเน็ตเวิร์กที่ไม่มีศูนย์กลางนั้นถ้าส่วนใดส่วนเกิดเสียขึ้นมา ส่วนที่เหลือยังคงสามารถทำงานต่อได้คือสามารถติดต่อสื่อสารกันได้
โปรโตคอล TCP/IP
ภายในเวลาไม่นานนักหน่วยงานอื่นๆได้เริ่มเห็นคุณประโยชน์ของการติดต่อสื่อสาร แบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในอาร์พาเน็ต ดังนั้นหน่วยงานเหล่านั้นจึงต้องการนำเอาบรรดา คอมพิวเตอร์ของหน่วยงานตนมาเชื่อมต่อกับอาร์พาเน็ต

การที่คอมพิวเตอร์จะสามารถติดต่อสื่อสารกันได้นั้นต้องใช้กฏเกณท์ด้านการสื่อสารเดียวกัน กฏเกณท์ด้านการสื่อสารในภาษาอังกฤษเรียกว่าโปรโตคอล (Protocol)เงื่อนไขนี้ทำให้เกิดปัญหา ในการเชื่อมต่อ ทั้งนี้เพราะว่าคอมพิวเตอร์ที่ผลิตจากแต่ละบริษัทต่างก็ใช้โปรโตคอลของตนเอง เช่น คอมพิวเตอร์ที่ผลิตโดยไอบีเอ็มก็ใช้โปรโตคอลของไอบีเอ็ม และเมื่อนำคอมพิวเตอร์นั้นไปเชื่อมต่อเข้ากับอาร์พาเน็ต ก็ย่อมไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ทั้งหลายในอาร์พาเน็ตได้ ทั้งนี้ เพราะว่าอาร์พาเน็ตก็ใช้โปรโตคอลของตนเองไม่ได้ใช้โปรโตคอลของไอบีเอ็ม
เพื่อให้การนำเอาคอมพิวเตอร์จากหน่วยงานอื่นมาเชื่อมต่อได้สดวก อาร์พาเน็ตต้องเปลี่ยนมาใช้โปรโตคอลที่สดวกต่อการเชื่อมต่อ และเป็นโปรโตคอลที่ไม่ได้เป็นของบริษัทหนึ่งบริษัทใดโดยเฉพาะ พร้อมทั้งข้อมูลทางด้านเทคนิคของโปรโตคอลนั้นเป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะและ เป็นโปรโตคอลที่บริษัทและหน่วยงานส่วนใหญ่ยอมรับ โปรโตคอลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้คือ TCP/IP วินตัน เซิร์ฟ(Vinton Cerf) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และโรเบิร์ต คาห์น (Robert Kahn) จาก BBN เป็นผู้พัฒนาโปรโตคอล TCP/IP อาร์พาเน็ตได้เปลี่ยนมาใช้โปรโตคอล TCP/IP ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 ผลก็คือทำให้หลังจากนั้นคอมพิวเตอร์จากหน่วยงานอื่นที่มาเชื่อมต่อเข้าอาร์พาเน็ตทำได้สดวกขึ้น กล่าวคือถ้าต้องการเชื่อมต่อกับอาร์พาเน็ตก็ปรับให้คอมพิวเตอร์สามารถใช้โปรโตคอล TCP/IP ได้ จำนวนคอมพิวเตอร์ที่มาเชื่อมต่อเข้ากับอาร์พาเน็ตได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆอย่างรวดเร็ว
Internet เน็ตเวิร์กของเน็ตเวิร์ก
ในทศวรรษที่ 1980 อาร์พาเน็ตได้ขยายตัวใหญ่ขึ้นอีก คือ ได้มีบรรดาเน็ตเวิร์กอื่น ๆเป็นจำนวนมากได้มาเชื่อมต่อกับอาร์พาเน็ต ในตอนนี้กล่าวได้ว่าอาร์พาเน็ตประกอบขึ้นด้วยเน็ตเวิร์ก เป็นจำนวนมากมิได้มีเพียงเน็ตเวิร์กเดียว(ในตอนเริ่มต้น) เน็ตเวิร์กทั้งหลายในอาร์พาเน็ตพอจำแนกออกได้ดังนี้

  • ARPANET
  • MILNET เน็ตเวิร์กด้านทหาร
  • NSFNET (National Science Foundation network)
  • OTHER NETS เน็ตเวิร์กอื่นๆ เช่น Bitnet Usenet
สิ่งที่เกิดขึ้นกล่าวได้ว่าเป็นเน็ตเวิร์กของเน็ตเวิร์กโดยมีอาร์พาเน็ตเป็นเน็ตเวิร์กหนึ่งในนั้น ดังนั้นเพื่อให้สื่อความหมายจึ่งได้เปลี่ยนจากการใช้ชื่ออาร์พาเน็ตมาเป็นใช้ชื่ออินเตอร์เน็ต (Internet) แทนในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 และในช่วงเดียวกันนั้นกระทรวงกลาโหมของสหรัฐได้ตัดสินใจแยก MILNET เน็ตเวิร์กด้านทหารออกจากอินเตอร์เน็ต


 อินทราเน็ต
อินทราเน็ตคืออะไร
    อินทราเน็ต(Intranet) คือ ระบบเครือข่ายภายในองค์กร เป็นบริการ และการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เหมือนกันอินเทอร์เน็ต แต่จะเปิดให้ใช้เฉพาะสมาชิกในองค์กรเท่านั้น เช่น อินทราเน็ตของธนาคารแต่ละแห่ง หรือระบบเครือข่ายมหาดไทย ที่เชื่อมศาลากลางทั่วประเทศ เป็นต้น เป็นการสร้างระบบบริการข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเปิดบริการคล้ายกับอินเทอร์เน็ตเกือบทุกอย่าง แต่ยอมให้เข้าถึงได้เฉพาะคนในองค์กรเท่านั้น เป็นการจำกัดขอบเขตการใช้งาน ดังนั้นระบบอินเทอร์เน็ตในองค์กร ก็คือ "อินทราเน็ต" นั่นเอง แต่ในช่วงที่ชื่อนี้ยังไม่เป็นที่นิยม ระบบอินทราเน็ต ถูกเรียกในหลายชื่อ เช่น Campus network, Local internet, Enterprise network เป็นต้น อินทราเน็ตคืออะไร (จาก doothai.com)
    ในยุคที่อินเตอร์เน็ตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง บริษัทธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ เริ่มหันมาใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ต ในการโฆษณา การขายหรือเลือกซื้อสินค้าและชำระเงินผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ในขณะที่องค์กรบางแห่งที่ไม่มุ่งเน้นการบริการข้อมูลอินเตอร์เน็ตระหว่างเครือข่าย ภายนอก แต่จัดสร้างระบบบริการข้อมูลข่าวสารภายในองค์กรและเปิดให้บริการในรูปแบบเดียวกับที่มีอยู่ในโลก ของอินเตอร์เน็ตจริง ๆ โดยมีเป้าหมายให้บริการแก่บุคลากร ในองค์กร จึงก่อให้เกิดระบบอินเตอร์เน็ตภายในองค์กร เรียกว่า "เครือข่ายอินทราเน็ต (Intranet)" เครือข่ายอินทราเน็ตนั้น เริ่มเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในปี พ.ศ.2539 แต่แท้ที่จริงแล้วได้มีผู้ริเริ่มพูดถึงชื่อนี้ตั้งแต่ สี่ปีก่อนหน้าแล้ว หลังจากนั้นระบบอินทราเน็ตจึงได้ได้รับความนิยมมากขึ้น ในยุคแรก ๆ ระบบนี้มีชื่อเรียกกันหลายชื่อ เช่น แคมปัสเน็ตเวิร์ก (Campus Network) โลคัลอินเตอร์เน็ต (Local Internet) เอนเตอร์ไพรท์เน็ตเวิร์ก (Enterprise Network) เป็นต้น แต่ที่รู้จักกันมากที่สุดคือชื่อ อินทราเน็ต ชื่อนี้จึงกลายเป็นชื่อยอดนิยมและใช้มาจนถึงปัจจุบัน
    กล่าวได้ว่าการใช้งานอินทราเน็ต ก็คือ การใช้งานของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตโดยจำกัดขอบเขตการใช้งาน ส่วนใหญ่อยู่เฉพาะภายในเครือข่ายของหน่วยงานเท่านั้น และนอกจากนี้ระบบ อินทราเน็ตยังสามารถเชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ตได้เช่นกัน ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานอินทราเน็ตสามารถใช้ทั้งอินทราเน็ตและอินเตอร์เน็ตไปพร้อม ๆ กันได้ โดยทั่วไปอินทราเน็ตจะไม่เน้นการเชื่อมต่อไปสู่อินเตอร์เน็ตภายนอก เพื่อสืบค้นหรือใช้ประโยชน์จากข้อมูลภายนอก หากแต่มุ่งหวังที่จะจัดเตรียมข้อมูลและสารสนเทศภายในองค์กร ด้วยการจัดเตรียมคอมพิวเตอร์ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องแม่ข่ายที่ให้บริการข้อมูลในรูปแบบเดียวกับที่ใช้งานในอินเตอร์เน็ต และขยายเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไปถึงบุคลากรทุกหน่วยงาน ให้สามารถ เรียกค้นข้อมูลและสื่อสารถึงกันได้ รูปแบบสำคัญที่มีในอินทราเน็ต คือ การใช้ระบบเวบเป็นศูนย์บริการข้อมูลและข่าวสารภายใน สามารถให้ข้อมูลได้ทั้งข้อความ เสียง ภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อน ไหวและเป็นเครื่องมือที่ง่ายต่อการใช้งาน โดยได้ผนวกบริการข้อมูลอื่นรวมไว้ในตัวเช่น จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ การถ่ายโอนย้ายแฟ้มข้อมูล หรือกระดานข่าว เป็นต้น
    อินทราเน็ตจะช่วยปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเอกสารจากเดิมใช้วิธีทำสำเนาแจกจ่าย ไม่ว่าจะเป็นข่าว ประกาศ รายงาน สมุดโทรศัพท์ภายใน ข้อมูลบุคลากร มาจัดทำให้อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์ แทน ผู้ใช้สามารถเรียกค้น ข้อมูลข่าวสารได้เมื่อต้องการ การประยุกต์ใช้อินทราเน็ตในหน่วยงานถือเป็นการปฏิรูปในองค์กรและก่อให้เกิดผลกระทบต่อกระบวนการและขั้นตอนการทำงานทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ช่วยให้การดำเนินงานเป็น ไปได้อย่างคล่องตัว และลดค่าใช้จ่ายลงได้อย่างมาก หากมีการวางแผนงานและเทคโนโลยีที่เหมาะสมก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กรให้สูงขึ้น เครือข่ายอินทราเน็ตที่ถูกเชื่อมต่อเข้าด้วยกันโดยติดต่อกันผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตนั้น เรียกว่าเครือข่ายเอ็กซ์ทราเน็ต (Extranet) เครือข่ายเอ็กซ์ทราเน็ตสามารถมองเป็นส่วนหนึ่งของ เครือข่ายอินทราเน็ตที่สามารถติดต่อ ออกไปหน่วยงานต่าง ๆ นอกองค์กรได้ การที่ใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตเพื่อติดต่อกันแทนที่จะติดต่อกันโดยตรงระหว่างเครือข่ายอินทราเน็ตนั้นทำให้ประหยัด ค่าใช้จ่าย และสามารถใช้ข้อดีของบริการบนอินเตอร์เน็ตและอินทราเน็ตได้มีประโยชน์สูงสุด ประโยชน์อินทราเน็ต (จาก doothai.com)
    ประโยชน์ของการนำอินทราเน็ตเข้ามาประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน สามารถสรุปได้ดังนี้
    1. การสื่อสารเป็นแบบสากล ผู้ใช้ระบบอินทราเน็ตสามารถส่งข่าวสารในรูปของ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมาตรฐานสากลระหว่างผู้ร่วมงานภายในหน่วยงานและผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ซึ่งอยู่ภายนอกหน่วยงานได้
    2. อินทราเน็ตใช้มาตรฐานเครือข่าย และโปรแกรมประยุกต์ได้เช่นเดียวกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีใช้อย่างแพร่หลาย และผ่านการยอมรับให้เป็นมาตรฐานตามความนิยมไปโดยปริยาย โดยมีทั้งผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้เลือกใช้ได้หลากหลาย
    3. การลงทุนต่ำ ด้วยความต้องการด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์คล้ายคลึงกับที่ใช้ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตซึ่งมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกมากมายและราคาต่ำ จึงทำให้ค่าใช้จ่ายการวางระบบเครือข่ายต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ ค่าใช้จ่ายที่ต้องลงทุนกับระบบอื่น ๆ
    4. ความน่าเชื่อถือ เทคโนโลยีที่ใช้นั้นได้ผ่านการทดลองใช้และปรับปรุง จนกระทั่งอยู่ในสถานภาพที่มีความเชื่อถือได้สูง
    5. สมรรถนะ สามารถสื่อสารข้อมูลรองรับการส่งข้อมูลที่ประกอบด้วย ข้อความ ภาพและเสียงได้
    ในปัจจุบัน บริษัทธุรกิจชั้นนำในประเทศต่าง ๆ ได้นำเทคโนโลยีอินทราเน็ตมาประยุกต์ใช้ในองค์กรกันอย่างแพร่หลาย สำหรับอินทราเน็ตในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น และการขยายแนวความคิดให้กับผู้บริหารองค์กร อีกทั้งองค์กรหลายแห่งยังคงไม่พร้อมทั้งด้านงบประมาณ และบุคลากรที่จะเชื่อมโยงสู่อินเตอร์เน็ตอย่างแท้จริง อินทราเน็ตจึงเป็นช่องทางในการพัฒนาและเตรียมความพร้อมในระยะแรก แต่ก็มีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก
เอกซ์ทราเน็ต

Extranet หรือ เครือข่ายภายนอกองค์กร
คือระบบเครือข่ายซึ่งเชื่อมต่อภายในองค์กร (Intranet) เข้ากับระบบที่อยู่ภายนอกองค์กรโดยการเชื่อมโยงอาจเป็นได้ทั้งการเชื่อมต่อโดยตรง (Direct Link) ระหว่าง 2 จุด หรือการเชื่อมต่อแบบ เครือข่ายเสมือน (Virtual Network) ระหว่างระบบเครือข่าย Intranet จำนวนหลายๆ เครือข่ายผ่านอินเทอร์เน็ตได้


ระบบเครือข่ายแบบเอ็กซ์ทราเน็ต โดยปกติแล้วจะอนุมัติให้ใช้งานเพาะสมาชิกขององค์กรหรือผู้ที่ได้รับสิทธิในการใช้งานเท่านั้น โดยผู้ใช้จากภายนอกที่เชื่อมเข้ามาผ่านเครือข่ายเอ็กซ์ทราเน็ตอาจจะถูกแบ่งเป็นประเภทๆ เช่น ผู้ดูแลระบบ สมาชิก คู่ค้า หรือผู้ที่สนใจทั่วไป เป็นต้น ซึ่งผู้ใช้แต่ละกลุ่มจะได้รับสิทธิในการใช้งานเครือข่ายที่แตกต่างกันออกไป

เครือข่ายเอ็กซ์ทราเน็ต เป็นเทคโนโลยีเครือข่ายที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากแนวโน้มการใช้งานเครือข่ายที่เริ่มมีการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้ต้องมีการเชื่อมต่อกับบุคคลและเครือข่ายภายนอกองค์กรจำนวนมาก จึงต้องมีระบบการจัดการเชื่อมต่อเครือข่ายภายนอกที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น